ทฤษฎีใหม่ของการกำเนิดเซลล์ยูคาริโอต


     ในทางชีววิทยา เราสามารถแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิตออกได้หลักๆ 2 ประเภทคือ เซลล์ยูคารีโอต (Eukaryotic cell) หมายถึงเซลล์ที่มีนิวเคลียส เช่น โปรโตซัว, เซลล์รา, เซลล์พืช, เซลล์สัตว์ และ เซลล์โปรคารีโอต (Prokaryotic cell) หมายถึงเซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียส เช่น แบคทีเรีย

     นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมานานแล้วว่าเซลล์ยูคารีโอตเกิดจากเซลล์โปรคารีโอตเซลล์หนึ่ง "กิน" เซลล์โปรคารีโอตเข้าไปแล้วดันไม่ย่อย เซลล์โปรคารีโอตทั้งตัวกินและตัวถูกกินเลยวิวัฒนาการอยู่แบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutualism หรือ Protocoperation) เซลล์โปรคารีโอตที่เป็นตัวกินก็กลายเป็นเจ้าบ้านเป็นเจ้าของเซลล์ไป ส่วนตัวที่ถูกกินก็กลายเป็นผู้อยู่อาศัยซึ่งลดสภาพเป็นแค่ออร์แกเนลล์ส่วนหนึ่งของเซลล์ ได้แก่ ไมโทคอนเดรีย และคลอโรพลาสต์ ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า "Endosymbiosis" อันได้รับการบุกเบิกโดย ลินน์ มาร์กูลิส (Lynn Margulis) นักชีววิทยาชื่อดังผู้ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อพฤศจิกายน 2011

Lynn Margulis นักชีววิทยาชาวอเมริกันผู้เขียนบทความ "On the Origin of Mitosing Cells" เป็นที่มาของทฤษฎี Endosymbiosis ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Theoretical Biology ในปี ค.ศ. 1966 ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน

      แต่ปัญหาเรื่องของลำดับขั้นตอนก็ยังคงอยู่ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบรรพบุรุษของเซลล์ยูคารีโอต น่าจะเป็นสมาชิกของหรือมีบรรพบุรุษร่วมกับ โดเมนอาร์เคีย (Domain Archaea) เพราะอาร์เคียกับ ยูคารีโอตมีลักษณะชีววิทยาเชิงโมเลกุลบางอย่างเหมือนกัน ปัญหาคืออาร์เคียตัวหนึ่งจะก้าวข้ามขั้นตอนตั้งแต่การสร้างนิวเคลียสซึ่งไม่เคยมีมาก่อนแล้วไปไล่จับกินเซลล์อื่นได้อย่างไร การสร้างนิวเคลียส (การสร้างเยื่อหุ้มนิวเคลียส) อย่างที่พบเห็นในเซลล์ยูคารีโอตนั้นไม่น่าจะใช่กระบวนการที่สามารถบังเอิญเกิดได้ในชั่วข้ามคืนแน่ เพราะเยื่อหุ้มนิวเคลียสเป็นการเรียงตัวของลิพิดซ้อนกันสองชั้น (lipid bilayer) มีรู (nuclear pore) ที่ควบคุมซับซ้อน,เชื่อมต่อกับร่างแหเอนโดพลาสมิก เรติคูลัม (Endoplasmic reticulum) เป็นเครือข่ายที่ควบคุมกลไกหลักๆ ในเซลล์ นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบ อาร์เคียที่มีชีวิตในปัจจุบันตัวไหนเลยที่มีลักษณะของเครือข่ายเยื่อภายในเซลล์ใกล้เคียงกับยูคารีโอต

     นักวิทยาศาสตร์ลูกพี่ลูกน้องสองคน ได้แก่ “เดวิด บัม (David Baum)” แห่งมหาวิทยาลัยวิสคัลซิล (University of Wisconsin) และ “บัซ บัม (Buzz Baum)” แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) คิดว่าหากมองในมุมกลับจากความเชื่อปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวจะไม่ได้มืดแปดด้านอย่างที่คิดเลย นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันสันนิษฐานจากมุมมองที่ว่าบรรพบุรุษยูคารีโอตเริ่มปั้นนิวเคลียสด้วยการบุ๋มเยื่อหุ้ม (invagination) เข้าไปข้างในเพื่อล้อมรอบสารพันธุกรรม แยกกั้นออกเป็นนิวเคลียสและไซไตพลาสซึม (cytoplasm) แต่ในมุมมองของสองลูกพี่ลูกน้อง “บัม” นิวเคลียสทั้งลูกนั่นแหละที่เคยเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของยูคารีโอต ส่วนไซโตพลาสซึมเกิดจากการขยายเยื่อออกสู่ข้างนอก

     ตามความคิดของ เดวิด และ บัซ บัม บรรพบุรุษของยูคารีโอตซึ่งในที่นี้เรียกว่า อีโอไซต์ (Eocyte) มีผนังเซลล์ (S-layer) หุ้มล้อมรอบ ต่อมาเยื่อหุ้มเซลล์ของอีโอไซต์เริ่มแทงทะลุผนังเซลล์ ยื่นออกมาเป็นโครงสร้างคล้ายนิ้วเล็กๆ ที่เรียกว่า "bleb" ซึ่งนิ้วเล็กๆ นี้จะทำหน้าที่เหมือนขาเทียมของอะมีบา ไปล้อมกินเซลล์อื่นหรือแหล่งอาหาร

แผนภาพการกำเนิดเซลล์ยูคาริโอตตามทฤษฎีของเดวิด และ บัซ บัม


      ด้วยความบังเอิญอีโอไซต์ได้ไปพบกับแบคทีเรียซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไมโทคอนเดรีย และได้ดักจับเอาไว้ พออีโอไซต์ได้ไมโทคอนเดรียซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานสูงเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ อิโอไซต์จึงได้มีการขยายขนาดต่อไป “bleb” ที่เคยเป็นนิ้วเล็กๆ ก็ไม่เล็กอีกต่อไปแล้ว “bleb” แต่ละอันมีการขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นจนประชิด และเริ่มประสานเยื่อรวมกันทำให้ผนังเซลล์เริ่มบางลง

      ของเหลวข้างใน “bleb” ก็คือจุดเริ่มต้นของไซโตพลาสซึม (cytoplasm) บรรพบุรุษไมโทคอนเดรียที่เคยกินอยู่ใน “bleb” ก็หลุดเข้ามาอยู่ในไซโตพลาสซึมและกลายเป็นออร์แกเนลล์ไปโดยสมบูรณ์แบบ เมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้นเยื่อหุ้มของ “bleb” รอบนอกก็ประสานเป็นเนื้อเดียวกันกลายเป็นเยื่อหุ้มของเซลล์ยูคารีโอตไป ผนังเซลล์ (S-layer) สลายหายเพราะหมดความจำเป็นแล้ว เยื่อหุ้มเซลล์ดั้งเดิมของอีโอไซต์ ก็กลายเป็นเยื่อหุ้มนิวเคลียสชั้นใน รูที่ “bleb” แทงทะลุผนังผนังเซลล์ (S-layer) ออกมาในตอนแรกก็วิวัฒนาการความซับซ้อนกลายเป็นรู (nuclear pore) และในท้ายที่สุด ช่องว่างภายในไซโตพลาสซึมที่เยื่อหุ้มของ“bleb” ไม่ได้ประสานกันสนิทก็หลงเหลือกลายเป็นช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มนิวเคลียสชั้นนอกและชั้นใน (perinuclear space) กับ ชั้นรู (lumen) ของเอนโดพลาสมิก เรติคูลัม (ER) ซึ่งเชื่อมกันเป็นเครือข่ายร่างแหท่อขนาดใหญ่ภายในเซลล์



เรียบเรียงจาก:   https://en.wikipedia.org/wiki/Lynn_Margulis
                          https://jusci.net/node/3391

Share on Google Plus

About eyeless

    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น